ประวัติความเป็นมา HISTORY

              สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (สง.ก.ตร.) ได้รับการสถาปนาเป็นส่วนราชการระดับกองบัญชาการ เมื่อวันที่ ๒๓ ม.ค. ๒๕๔๐ ตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๐ ทำหน้าที่เป็นฝ่ายอํานวยการให้กับสํานักงานตํารวจแห่งชาติและดําเนินการเกี่ยวกับงานเลขานุการของคณะกรรมการข้าราชการตํารวจ โดยมีเลขานุการ ก.ตร. เป็นผู้ควบคุมการปฏิบัติงานและมีผู้ช่วยเลขานุการ ก.ตร. เป็นผู้ช่วยควบคุมดูแลการปฏิบัติงาน จำนวน ๒ ท่าน ในระยะแรก เจ้าหน้าที่ฝ่ายเลขานุการมาช่วยปฏิบัติราชการจากหน่วยงานต่าง ๆ ภายในกรมตำรวจ

มติ ก.ตร. ครั้งที่ ๖/๒๕๒๕ เมื่อวันที่ ๒๖ เม.ย. ๒๕๒๕ ได้กำหนดงานพร้อมทั้งกรอบอัตรากำลัง ในระดับกองกำกับการ ๒ ฝ่าย ได้แก่

  • ฝ่ายวินัยและอุทธรณ์
  • ฝ่ายตรวจสอบและทะเบียนประวัติ

เจ้าหน้าที่ที่มาช่วยปฏิบัติราชการดำรงตำแหน่งภายใต้การปกครองบังคับบัญชาของสำนักงานกำลังพล ส่วนการปฏิบัติหน้าที่อยู่ในการควบคุมดูแลของเลขานุการ ก.ตร.

ต่อมา ก.ตร. ในการประชุม ครั้งที่ ๑๑/๒๕๓๒ เมื่อวันที่ ๖ ธ.ค. ๒๕๓๒ และ ครั้งที่ ๙/๒๕๓๔ เมื่อวันที่ ๑๖ ก.ย. ๒๕๓๔ และ ครั้งที่ ๒/๒๕๓๕ เมื่อวันที่ ๒๐ ม.ค. ๒๕๓๕ ได้อนุมัติกำหนดหน่วยงานสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจขึ้นเป็นหน่วยงานภายใน ตร. และกำหนดตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ให้กับ ก.ตร. และอนุกรรมการ ก.ตร. ดังนี้

รองผู้บังคับการ                      ๕        ตำแหน่ง

ผู้กำกับการ                            ๖        ตำแหน่ง

รองผู้กำกับการ                      ๕        ตำแหน่ง

สารวัตร                                 ๒๖      ตำแหน่ง

รองสารวัตร                           ๖๒      ตำแหน่ง

ผู้บังคับหมู่ หรือ ลูกแถว        ๘๕      ตำแหน่ง

ทั้งนี้ ตร. ได้จัดหน่วยงานภายใน สง.ก.ตร. แบ่งออกเป็น ๕ ส่วน ดังนี้

๑) ส่วนอำนวยการและพัฒนา

๒) ส่วนตรวจสอบและกฎหมาย

๓) ส่วนพิจารณาความผิดและการกำหนดโทษ

๔) ส่วนวินัยและการออกจากราชการ

๕) ส่วนอุทธรณ์

แต่ละส่วนราชการมี รอง ผบก. เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ และตำแหน่งดังกล่าวทั้งหมดสังกัดสำนักงานกำลังพล ส่วนการปฏิบัติหน้าที่อยู่ในความควบคุมดูแลของเลขานุการ ก.ตร.

นอกจากนั้น ก.ตร. ในการประชุม ครั้งที่ ๘/๒๕๓๗ เมื่อวันที่ ๒๐ เม.ย. ๒๕๓๗ ได้อนุมัติกำหนดตำแหน่ง ผบก.ประจำ สกพ. จำนวน ๑ ตำแหน่ง ทำหน้าที่ในสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ต่อมา ก.ตร. ในการประชุม ครั้งที่ ๑๗/๒๕๓๗ เมื่อวันที่ ๑๙ ต.ค. ๒๕๓๗ อนุมัติกำหนดตำแหน่ง ผบช. ประจำ ตร. จำนวน ๑ ตำแหน่ง ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ

การจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจเป็นส่วนราชการระดับกองบัญชาการครั้งแรก ภายใต้การริเริ่มดำเนินการของ พล.ต.ท. ชาญชิต เพียรเลิศ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง เลขานุการ ก.ตร. โดยได้ริเริ่มขึ้นเมื่อครั้งที่ พล.ต.ท. ชาญชิตฯ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักงานกำลังพล กรมตำรวจ ดังปรากฏตาม พระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๐ ซึ่งมีผลให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจได้รับการสถาปนาเป็นส่วนราชการระดับกองบัญชาการ ตั้งแต่วันที่ ๒๓ ม.ค. ๒๕๔๐ เป็นต้นมา โดยมีการแบ่งส่วนราชการภายในสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ระดับกองบังคับการ ๕ กองบังคับการ ดังนี้

๑) กองตรวจสอบและทะเบียนประวัติ

๒) กองพัฒนาการบริหารงานบุคคล

๓) กองพิจารณาความผิดและการกำหนดโทษ

๔) กองรักษามาตรฐานวินัย

๕) กองอุทธรณ์และร้องทุกข์

แต่ละกองบังคับการมีส่วนราชการระดับกองกำกับการ จำนวน ๑ กองกำกับการ คือ กองกำกับการอำนวยการ สำหรับการกำหนดตำแหน่งภายในสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ เป็นไปตามมติ ก.ตร. ครั้งที่ ๑๙/๒๕๓๙ เมื่อวันที่ ๒๑ พ.ย. ๒๕๓๙ และมติ ครม. ในการประชุม เมื่อวันที่ ๒๔ ธ.ค. ๒๕๓๙ ดังนี้

ผู้บัญชาการ                             ๑        ตำแหน่ง

รองผู้บัญชาการ                       ๑        ตำแหน่ง

ผู้ช่วยผู้บัญชาการ                    ๑        ตำแหน่ง

ผู้บังคับการ                              ๕       ตำแหน่ง

รองผู้บังคับการ                        ๖        ตำแหน่ง

ผู้กำกับการ                              ๑๑      ตำแหน่ง

รองผู้กำกับการ                        ๑๓      ตำแหน่ง

สารวัตรหรือเทียบเท่า              ๔๖      ตำแหน่ง

รองสารวัตรหรือเทียบเท่า        ๑๐๖    ตำแหน่ง

ผู้บังคับหมู่หรือลูกแถว             ๑๔๑    ตำแหน่ง

รวมทั้งสิ้น                ๓๓๑   ตำแหน่ง

ในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ พระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๘ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๑ ก.ค. ๒๕๔๘ ได้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๐ และแบ่งส่วนราชการของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ โดยยังคงเป็นส่วนราชการระดับกองบัญชาการ และมีกองบังคับการในสังกัด จำนวน ๔ กองบังคับการ ดังนี้

๑) กองตรวจสอบและทะเบียนประวัติ

๒) กองพัฒนาระบบตำแหน่งและบริหารงานบุคคล

๓) กองมาตรฐานวินัย

๔) กองอุทธรณ์

แต่ละกองบังคับการมีส่วนราชการระดับกองกำกับการ จำนวน ๒ กองกำกับการ คือ ฝ่ายอำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ และกลุ่มงานร้องทุกข์

[/showhide]

              พระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๒ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๗ ก.ย. ๒๕๕๒ ได้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๘ และแบ่งส่วนราชการของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ โดยให้เป็นส่วนราชการในสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่มีฐานะเทียบเท่ากองบัญชาการ และมีกองบังคับการในสังกัด จำนวน ๔ กองบังคับการ ดังนี้

๑) กองตรวจสอบและทะเบียนประวัติ

  • ๑.๑) ฝ่ายอำนวยการ
  • ๑.๒) ฝ่ายการประชุม ๑
  • ๑.๓) ฝ่ายการประชุม ๒
  • ๑.๔) ฝ่ายตรวจสอบงานบุคคล ๑
  • ๑.๕) ฝ่ายตรวจสอบงานบุคคล ๒
  • ๑.๖) ฝ่ายนิติการ
  • ๑.๗) ฝ่ายทะเบียนประวัติ

๒) กองมาตรฐานวินัย

  • ๒.๑) ฝ่ายอำนวยการ
  • ๒.๒) กลุ่มงานพิจารณา ๑
  • ๒.๓) กลุ่มงานพิจารณา ๒

๓) กองอุทธรณ์

  • ๓.๑) ฝ่ายอำนวยการ
  • ๓.๒) กลุ่มงานพิจารณา ๑
  • ๓.๓) กลุ่มงานพิจารณา ๒

๔) กองร้องทุกข์

  • ๔.๑) ฝ่ายอำนวยการ
  • ๔.๒) กลุ่มงานพิจารณา ๑
  • ๔.๓) กลุ่มงานพิจารณา ๒

              ฝ่ายอำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ เป็นส่วนราชการระดับกองกำกับการ ขึ้นตรงต่อ สง.ก.ตร. และกองตรวจสอบและทะเบียนประวัติ แบ่งกองกำกับการ ออกเป็น ๗ ฝ่าย นอกนั้น แบ่งส่วนราชการออกเป็น ฝ่ายอำนวยการและกลุ่มงานพิจารณา

(สํานักงานตํารวจแห่งชาติ ราชกิจจานุเบกษา ฉบับวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๔๐ เล่มที่ ๑๑๔ ตอนที่ ๑ ก หน้า ๔ – ๖)

(สํานักงานตํารวจแห่งชาติ ราชกิจจานุเบกษา ฉบับวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๕๒ เล่มที่ ๑๒๖ ตอนที่ ๖๕ ก หน้า ๕ – ๖)

(สํานักงานตํารวจแห่งชาติ ราชกิจจานุเบกษา ฉบับวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๕๒ เล่มที่ ๑๒๖ ตอนที่ ๖๖ ก หน้า ๒๔ – ๒๖)